ประเภทของแอมป์กีตาร์ไฟฟ้า

ประเภทของแอมป์กีตาร์ไฟฟ้า เราสามารถแบ่งแอมป์กีตาร์ได้ทั้งจากตามคุณลักษณะภายนอก

  1. แอมป์กีตาร์แบบคอมโบแอมป์ (Combo Amp) ซึ่งข้อดีของแอมป์ประเภทนี้คือ มีทั้งปรีแอมป์ และลำโพง(Speaker)อยู่ในตัวเดียวกัน สะดวกเรื่องการขนย้าย ได้โทนที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละรุ่น จากการที่วิศวะกรของโรงงานเลือกใช้ปรีแอมป์ พาวเวอร์ และลำโพงสำเร็จมาจากโรงงานแล้ว
  2. แอมป์กีตาร์แบบแยกเฮดกับคาบิเน็ต (Head&Cabinet) แอมป์ประเภทนี้จะแยกเป็นสองส่วนคือส่วนของเฮด จะมีแค่ปรีแอมป์กับพาวเวอร์ และส่วนของคาบิเน็ตจะมีเฉพาะลำโพง ซึ่งแอมป์ประเภทนี้พอซื้อรวมเป็นชุดจะมีราคาสูงกว่าแอมป์แบบคอมโบ แต่จะมีความหลากหลายในการใช้งานมากขึ้น เช่น เราอาจจะเอาเฮดของอีกรุ่นไปผสมกับลำโพงของอีกรุ่น ก็จะได้ความหลากหลายของซาวด์มากขึ้น หรือสำหรับนักดนตรีก็สามารถยกหัวแอมป์ไปต่อกับลำโพงที่ร้านหรืองานคอนเสิร์ต ในกรณีที่เราอยากได้ซาวด์ที่คุ้นเคยได้

แบ่งตามลักษณะของปรีแอมป์

  1. แอมป์หลอดสุญญากาศ หรือ Tube Valve Amp เป็นแอมป์ประเภทแรกที่เกิดขึ้นบนโลก ว่ากันว่าน่าจะเกิดขึ้นในราวๆช่วงปี 1950 เสน่ห์ของแอมป์ประเภทนี้คือให้ความอุ่นของซาวด์ที่ดี มีมวล มีมิติ เสียงแตกที่ผ่านแอมป์หลอดสุญญากาศจะมีซัสเทนที่ยาว มีความสมู้ท ตอบสนองต่อไดนามิกได้ดี แต่ข้อเสียคือน้ำหนักมาก เปราะบางต่อการขนย้าย และหลอดเองก็มีอายุการใช้งานที่จำกัด แต่ถึงจะมีข้อเสียที่กล่าวมา นักดนตรีหลายท่านก็ยังประทับใจในเสน่ห์ของเสียงแบบแอมป์หลอด ตัวอย่างของแอมป์ประเภทนี้ที่ยังคงได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบัน เช่น Fender Twin reverb ,Marshall JCM,Mesa boogie ,Vox AC30 เป็นต้น ปัจจุบันเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้มีการผลิตหลอดสุญญากาศขึ้นมาใหม่ ให้มีอายุการใช้งานนานขึ้น แต่คงคุณบัติเสียงแบบเดิมของหลอดไว้ วิธีสังเกตุคือ จะมีคำว่า Reissue ในชื่อรุ่นด้วย
  2. แอมป์ทรานซิสเตอร์ (Transister Amp) หรือ Solid State Amp คือแอมป์ที่ใช้ทรานซิสเตอร์ที่มีราคาถูกกว่าเข้ามาแทนแบบเดิม คือหลอดสุญญากาศ ถูกผลิตขึ้นในช่วงปี 1970 จุดเด่นของแอมป์ประเภทนี้คือ น้ำหนักเบากว่าแบบหลอด มีความผิดเพี้ยนของเสียงน้อย ให้เสียงคลีนที่ดี ถึงแม้จะอุ่นหนาสู้แบบหลอดไม่ได้ แต่ด้วยราคาที่ถูกลง และความทนทาน จึงได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เหมาะกับทั้งคนที่เพิ่งเริ่มฝึกหัดเล่นดนตรี ไปจนถึงมือาชีพ ตัวอย่างแอมป์ประเภทนี้ที่ได้รับความนิยมมากตั้งแต่ปี 1975 จนถึงปัจจุบันคือ Roland Jazz Chorus JC 120 นอกจากนั้นยังมีแอมป์ Solid State ราคาย่อมเยาที่เป็นที่นิยมอีกหลากหลายแบรนด์ เช่น Kustom KG212FX , PeaveyBandit 112 เป็นต้น
  3. Hybride Amps เป็นแอมป์สมัยใหม่ที่รวมเอาข้อดีของแอมป์ทั้งสองประเภทคือ Tube Valve และ Solid State Amp เข้าไว้ด้วยกัน โดยใช้วงจรปรีแอมป์เป็นหลอด ใช้พาวเวอร์เป็น Solid State ทำให้ได้โทนสดใสแบบ Solid State แต่ยังคงความหนานวลและ Distrotion แบบแอมป์หลอด มีราคาถูกลงเนื่องจากใช้หลอดน้อยลง ตัวอย่างของแอมป์ประเภทนี้ก็คือ Hughes&Kettner , Vox AC15VR เป็นต้น
  4. Modelling Amp หรือ Digital Amps เนื่องจากเทคโนโลยีปัจจุบันสามารถใช้ Digital processor ในการจำลองเสียงและเอฟเฟคแบบต่างๆใช้กันอย่างกว้างขวาง จึงมีการสร้างแอมป์ที่สามารถจำลองเสียงแอมป์ประเภทต่างๆขึ้น ซึ่งนอกจากสามารถเลือกใช้เสียงได้อย่างหลากหลายแอมป์ประเภทนี้ก็มักจะ built -in เสียงเอฟเฟคประเภทต่างๆใส่เข้ามาอย่างหลากหลาย ตัวอย่างแอมป์ประเภทนี้ก็อย่างเช่น Fender Mustang,Boss Katana , Fender Champion , Line 6 Spider และอีกหลายๆแบรนด์

สุดท้ายถึงแม้แอมป์จะมีหลายประเภท แต่มือกีตาร์แต่ละคนก็ล้วนแล้วแต่มีโทนแบบที่ตัวเองประทับใจ หรือแม้แต่แนวดนตรีแต่ละแนวก็ต่างมีโทนที่เหมาะสมต่างกัน จึงไม่แปลกเลยที่แอมป์ที่ผลิตตั้งแต่ยุค 1950 จึงยังคงไม่หายไปไหน ในขณะที่ก็ยังคงมีแอมป์โทนใหม่ๆให้มือกีตาร์ได้ลองได้เล่น ได้ค้นหา ไม่ใช่เรื่องแปลกที่มือกีตาร์แต่ละคนอาจมีแอมป์ที่ประทับใจมากกว่าหนึ่งตัว เพราะความสุขอย่างหนึ่งของคนเล่นกีตาร์คือได้เล่นกีตาร์ตัวโปรดกับโทนที่ประทับใจ และตอบโจทย์ในแต่ละแนวดนตรีได้อย่างดีที่สุด