PAD กับ HPFในมิกเซอร์ สองปุ่มเล็กๆแต่คุณภาพไม่เล็กเลย

Mixer หนึ่งในอุปกรณ์สำคัญเป็นอันดับแรกที่รองรับสัญญาณแบบ Analog จากแหล่งกำเนิดเสียงสามารถรับสัญญาณเสียงจากแหล่งกำเนิดเสียงไม่ว่าจะเป็นเสียงพูด เสียงร้องเพลง หรือเสียงเครื่องดนตรี ตั้งแต่ จำนวนน้อยไปจนถึงจำนวนมาก เพื่อให้ผู้ใช้งานปรับแต่งสัญญาณเสียงได้ตามต้องการก่อนส่งไปสู่ระบบพีเอ ซึ่งปัจจุบันแม้เราจะพบว่ามิกเซอร์แบบดิจิตอลได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในวงการLive Sound เนื่องจากข้อได้เปรียบทั้งเรื่องของขนาดและความสะดวกของฟังก์ชั่นต่างๆในการใช้งาน

แต่อย่างไรก็ตามมิกเซอร์แบบอนาล็อกก็ยังคงไม่ได้หายไปซะทีเดียว เนื่องจากจุดเด่นที่ใช้งานง่ายไม่ซับซ้อน ปรับใช้งานได้รวดเร็ว ให้โทนเสียงหนาอุ่นในแบบฉบับอนาล็อก จึงยังคงถูกใช้ในลักษณะของการเป็นซับมิกซ์สำหรับเปิดเพลงตามงานอีเวนท์ ซับมิกซ์ของนักดนตรีบนเวทีคอนเสิร์ต หรือแม้กระทั่งตามร้านอาหารที่ไม่มีซาวด์เอนจิเนียร์ประจำร้านและให้นักดนตรีปรับซาวด์กันเองก็มักจะเลือกใช้มิกเซอร์แบบอนาล็อกเพื่อความง่ายในการใช้งานนั่นเอง

เกริ่นมาซะเยอะ บทความนี้แอดมินจะมาแนะนำ เผื่อพี่ๆน้องๆนักดนตรีไปอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องปรับมิกซ์อนาล็อกเอง และประสบปัญหา เช่น มิกซ์มีอาการคลิบ เสียงที่ได้แตกพร่า เสียงลมจากเสียงร้องเข้าไมค์เยอะเกินไป มาลองดูว่าได้ใช้งานสองปุ่มเล็กๆที่มักให้มาในมิกเซอร์แบบอนาล็อกทุกรุ่นนี้แล้วหรือยัง

PAD สวิทช์ลดทอนสัญญาณ

เป็นสวิทช์ที่ออกแบบมาสำหรับใช้ลดทอนความแรงของสัญญาณลงมาจากเครื่องดนตรีหรือแหล่งกำเนิดเสียงอื่นๆ มิกเซอร์บางตัวอาจลดลง 20 dB บางตัวอาจจะลดได้มากถึง 30dB อย่างรูปที่แอดมินแนบมาด้วยคือ Yamahaลดลง 26dB เราจะใช้งานปุ่มนี้ในสองกรณีก็คือ

กรณีแรกคือ เมื่อเรารู้สึกว่า input มิกเซอร์ เกิดอาการคลิบแดง เสียงที่ออกพีเอแตกพร่า หรือหากใช้งานเพื่อต่อเป็นเอียร์มอนิเตอร์(นิยมใช้งานในมือกลองที่ต้องใช้เมโทรนอม) จะรู้สึกว่าเสียงที่ได้ยินในหูมีความพร่า ทั้งที่ยังไม่ได้เพิ่มเกนหรือเพิ่มเกนไปเพียงนิดเดียว การกด PAD ช่วยแก้ปัญหานี้ได้ครับ

กรณีที่สอง เมื่อเสียบเครื่องดนตรีเข้ามิกซ์ ขึ้นเฟดเดอร์ยังไม่ทันเพิ่มเกนที่มิกซ์ก็รู้สึกว่าเสียงดังเพียงพอแล้ว แต่เสียงเครื่องดนตรีของเราโทนเปลี่ยนไป ขาดฮาร์โมนิก อธิบายยังงัยดีล่ะ อารมณ์มันประมาณเหมือนเสียงมันอั้นๆน่ะครับ นั่นก็เพราะเกนหรืออัตตราขยายยังไม่ได้ เราก็จะใช้ปปุ่มPAD นี้ เพื่อลดความแรงของสัญญาณลง จนเราสามารถเพิ่มเกนเพื่อดึงเอาฮาร์โมนิกบางอย่างจากเครื่องดนตรีของเราได้ครับ

High Pass-Filter หรือ Low Cut

ออกแบบมาเพื่อกรองย่านความถี่ต่ำที่ไม่จำเป็นหรือที่เราไม่ต้องการออก ไม่ให้ผ่านไปได้ โดยที่ยังยอมให้ความถี่สูงผ่านไปได้ เช่น มิกเซอร์บางรุ่นอาจจะได้ 80 Hz บางรุ่นอาจะถึง100 Hz แล้วแต่การออกแบบของผู้ผลิต วิธีการใช้งานคือ หากเรากดปุ่ม 80 Hz สัญญาณที่มากกว่า 80 Hz จะสามารถผ่านไปได้โดยสะดวก โดยที่สัญญาณทีต่ำกว่า 80 Hz จะไม่สามารถผ่านได้ ซึ่งจะช่วยให้สัญญาณมีความสะอาดขึ้น อย่างเช่นในกรณีเสียงพูดหรือร้อง ปุ่มนี้จะช่วยลดเสียงเสียงลมพรึ่บพรั่บจากการออกเสียงพยัญชนะบางคำ เช่น ส ฉ พ ออกไป ข้อควรระวังคือ เครื่องดนตรีบางประเภท เช่น กลองไฟฟ้า เบส คีบอร์ด การกดปุ่มนี้จะทำให้เสียงต่ำของเครื่องดนตรีหายไป จึงควรเลือกใช้ให้เหมาะสมครับ

วันนี้เอาง่ายๆแค่สองปุ่มนี้ลองเอาไปปรับการใช้งานดูครับ บางทีไปเล่นดนตรีที่ร้าน ก็ดูซะหน่อย เขากด High Cut ไว้หรือเปล่า หรือสัญญาณเราแรงไปหรือเบาไป ก็ลองดูว่าต้องใช้ปุ่ม PAD ช่วยไหม ประมาณนี้ครับ แอดมินหวังว่าจะมีประโยชน์สำหรับพี่ๆน้องๆนักดนตรีทุกท่าน โชคดีมีความสุขในการเล่นดนตรีทุกท่านนะครับ ไว้พบกันบทความหน้าครับ