การดูแลรักษาแอมป์หลอด (Tubes Amp หรือ Valves Amp)

    หลายคนเห็นหัวข้อแล้วอาจจะเกิดความสงสัยว่าทำไมจึงใช้ทั้งคำว่า Tubes Amp และ Valves Amp อันที่จริงสองคำนี้เหมือนกัน หมายถึงแอมป์ที่ใช้หลอดสุญญากาศเป็นกำลังขับทั้งคู่ เพียงแต่ American Eng ใช้ Tubes ส่วน Brit Eng ใช้คำว่า Valves 

แอมป์หลอดนั้น มีความ Sensitive มากกว่าพวก Transistor อยู่มากพอสมควร ไฟกระชากครั้งเดียวก็อาจจะทำให้เสียงเปลี่ยนไปเลย หรือเซอร์กิตมีปัญหาได้ เรามาดูมีธีการดูแลรักษาแอมป์หลอดให้อยู่กับเราไปนานๆกัน

  1. แอมป์แบบหลอดจะมีความ sensitive ต่อกระแสไฟมากกว่าแบบ transister การใช้แอมป์หลอดในการแสดงสดนั้น จึงต้องควรมีการตรวจสอบว่าไฟที่จ่ายเข้าสู่แอมป์เป็นไฟที่นิ่งพอ ไม่สะดุด ไม่กระชาก เพราะจะทำให้เกิดความเสียหายกับวงจรอย่างได้ ในกรณีที่ไฟไม่นิ่ง และจำเป็นต้องใช้งานจริงๆ ควรหา Stabilizer ดีๆสักตัวมาป้องกันไว้ก่อน
  2. โดยปรกติแอมป์จะมีสวิทช์ Power และ Stand by อยู่สองอัน  เราควรจะเปิด Power ก่อนเพื่อวอร์มหลอดอย่างน้อยๆ 1-2 นาที ก่อนที่จะเปิด Stand by เพื่อใช้งานแอมป์ของเรา เพราะการที่จะทำให้หลอดจะนำกระแสได้ จะต้องรอให้ไส้หลอดร้อน และเผา Cathode จนทำให้ Cathode สามารถปล่อยอิเล็กตรอนออกมาได้  และเมื่อใช้งานเสร็จแล้ว ควรจะปิด Stand by ทิ้งไว้เพื่อให้หลอดได้คลายความร้อนสักพัก แล้วค่อยปิดพาวเวอร์ ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนง่ายๆ แต่ผู้ใช้งานแอมป์หลอดส่วนใหญ่มักจะมองข้ามกันเสมอ
  3. หลีกเลี่ยงการ Stand by แอมป์เป็นเวลานาน เพราะการ Stand by แอมป์เป็นเวลานานหลายชั่วโมง จะทำให้หลอดเกิดปฏิกริยา Cathode Poisoning ที่มีผลให้หลอดมีอายุการใช้งานที่สั้นลง
  4. การ Bias แอมป์นั้นต้องตั้งให้เหมาะสมกับแอมป์นั้นๆ ถ้าตั้ง Bias ให้ Hot เกินไป วงจรก็จะทำงานหนัก ทำให้หลอดเสื่อมสภาพเร็ว และการที่มีความร้อนสูงมาก อาจจะทำให้เซอร์กิตเสียหายได้ แต่ถ้าตั้งต่ำ หรือ Cold เกินไปก็จะทำให้แอมป์ทำงานได้ไม่เต็มที่ เสียงอาจจะมีอาการอั้นๆหรือผิดเพี้ยนได้ ดังนั้นการตั้ง Bias ของแอมป์ก็ควรจะให้เหมาะสมกับ Spec. ของแอมป์ ข้อนี้ในกรณีที่ตั้งเองนะครับ แต่ขอแนะนำให้ช่างผู้ชำนาญการตั้งให้จะดีกว่า
  5. ขณะใช้งานให้หมั่นสังเกตุหลอด Power แอมป์ เพื่อดูว่า มีอาการ Plate แดงหรือไม่ (อาการที่มีกระแสวิ่งในหลอดใกล้เคียงหรือเกินค่าที่หลอดจะรับได้ จะทำให้หลอดเกิดการเสื่อมสภาพอย่างรวดเร็ว ) โดยปกติตรงใส้ในของหลอดเท่านั้นที่จะมีสีแดงเรื่อๆและมีแสงสว่างเล็กน้อย เพราะเป็นไส้หลอดที่ให้ความร้อนกับตัวหลอด แต่ถ้าเราสังเกตพบว่ามีสีแดงเรื่อๆเหมือนเหล็กถูกเผาที่โครงสร้างของหลอด นั่นคือ มีอาการกระแสเกิน หากพบอาการนี้ แนะนำให้รีบนำส่งช่างเพื่อตรวจเช็คอาการ  
  6. หากพบว่าเสียงแอมป์เปลี่ยนไป เช่นเสียงเบาลงเรื่อยๆ หรือเสียงบางลงกว่าปกติ หรือมีอาการเสียงวูบดังเบาสลับกัน และถ้ามองเห็นตัวหลอดที่จะเริ่มมีฝ้าขาวเนื่องจากการสูญเสียความเป็นสุญญากาศ นั่นแปลว่าหลอดเริ่มเสื่อมสภาพแล้ว ขอแนะนำให้เปลี่ยนหลอด ซึ่งการเปลี่ยนหลอด Power Tubes/Valves  ควรเปลี่ยนยกชุด  ทั้งหลอดปรีแอมป์ และ เพาเวอร์(แอมป์บางรุ่นจะเป็นหลอดทั้งปรีแอมป์และพาวเวอร์ แต่รุ่นใหม่ๆบางรุ่นจะเป็นหลอดแค่ปรีแอมป์แต่พาวเวอร์เป็ทรานซิสเตอร์ อันนี้ก็จะประหยัดลงหน่อย) เพื่อการทำงานที่ดี และ สม่ำเสมอกัน
  7. ควรเคลื่อนย้ายแอมป์ด้วยความระมัดระวัง ใส่แร็ค หรือฝาครอบหรืออุปกรณ์ยึดหลอดทุกครั้งมีเคลื่อนย้าย เพื่อป้องกันสิ่งของมากระทบกับตัวหลอด และป้องกันแรงกระแทกที่อาจจะทำให้หลอดหลุดออกมา และอีกขั้นตอนที่ไม่ควรมองข้ามคือ การใช้แอมป์หลอดที่ถูกเคลื่อนย้างจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง   เช่นยกลงจากรถร้อนๆ มาที่เวทีที่มีความเย็นมากกว่า ต้องวางทิ้งไว้ให้แอมป์ปรับสภาพกับอุณหภูมิห้องสักครู่ ก่อนที่จะเปิด Power เพื่อยืดอายุการใช้งานวงจร และหลอดของแอมป์
  8. ไม่ควรเอานำ้หรือเครื่องดื่มอะไรก็ตามแต่ วางไว้บนแอมป์เด็ดขาด แอมป์พลิฟายด์เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ไฟฟ้าในการทำงาน ซึ่งหากของเหลวหกลงสู่แอมป์ นอกจากจะเป็นอันตรายกับแอมป์แล้วยังอาจเป็นอันตรายต่อผู้เล่นถึงชีวิตได้ 

     สุดท้ายนี้ถึงแม้จะมีข้อจำกัดมากมายในการใช้งาน แต่แอมป์หลอดก็ยังคงเป็นแอมป์ที่ให้โทนแบบที่หลายคนใฝ่ฝัน ถึงแม้ราคาจะสูงแต่หลายคนก็ยอมจ่ายเพื่อให้ได้ครอบครองสักตัว ดังนั้นการปฎิบัติตามข้อควรระวังเหล่านี้อย่างเคร่งครัด จะช่วยยืดอายุให้แอมป์หลอดที่คุณรักไปได้อีกนานเลยครับ